ประกาศ! "กฎเหล็ก 22 ข้อบังคับร้านอาหารทั่วประเทศ"

          กระทรวงสาธารณสุข ประกาศกฎกระทรวง 22 ข้ออย่างละเอียดบังคับร้านอาหารต้องทำตาม เพื่ออนามัยลูกค้า บางข้อต้องเตรียมไม้บรรทัดวัด กำหนดวางของตั้งสูงจากพื้น 15-60 ซม.ฝ่าฝืนปรับ 5 หมื่นบาท

          เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา ได้เผยแพร่ กฎกระทรวง สุขลักษณะของสถานที่จำหน่ายอาหาร พ.ศ. 2561 ลงนามโดยนายแพทย์ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ที่กำหนดให้สถานที่จำหน่ายอาหาร กลุ่มร้านอาหาร ต้องปฏิบัติตามกฎหมายทั้งหมด 5 หมวด 22 ข้อ สรุปได้ดังนี้

          ข้อ 1 มีผลบังคับใช้เมื่อพ้นกำหนด 180 วัน นับจากวันประกาศ (20 มิ.ย.2561)

          ข้อ 2 ในกฎกระทรวงนี้ หมายถึงกลุ่มประเภทอาหารสด, อาหารปรุงสำเร็จ ที่พร้อมรับประทาน ทั้งของหวาน เครื่องดื่ม, อาหารแห้ง อบ รมควัน ตากแห้ง, เครื่องปรุงรส เกลือ น้ำปลา น้ำส้มสายชู ซอส เครื่องเทศ สมุนไพร มัสตาร์ด,วัตถุเจือปนอาหาร เช่น วัตถุกันชื้น วัตถุดูดออกซิเจน

          ผู้ประกอบกิจการทั้งบุคคลทั่วไป และนิติบุคคลที่ได้ใบอนุญาต หรือหนังสือรับรองแจ้งจัดสถานที่จำหน่ายอาหาร และผู้ที่ได้รับมอบหมายให้ดูแลสถานที่จำหน่ายอาหารนั้น และผู้สัมผัสอาหาร หมายถึง บุคคลที่เกี่ยวข้องกับอาหาร ตั้งแต่กระบวนการเตรียมประกอบ ปรุง จำหน่าย และเสิร์ฟ รวมถึงล้าง และเก็บภาชนะอุปกรณ์

หมวดแรก ข้อ 3-8 เรื่องสุขลักษณะของสถานที่จำหน่ายอาหาร


          ข้อ 3 สถานที่จำหน่ายอาหาร เช่น พื้นที่ใช้ทำประกอบปรุงอาหาร ต้องสะอาด แข็งแรง ไม่ชำรุด ระบายอากาศเพียงพอ มีแสงสว่างที่เหมาะสม มีที่ล้างมือ หรืออุปกรณ์ทำความสะอาดมือที่เหมาะสม โต๊ะที่ใช้เตรียมอาหาร ต้องสูงจากพื้นไม่น้อยกว่า 60 เซนติเมตร มีสภาพดี

          ข้อ 4 ในส่วนของสถานที่จำหน่ายอาหารต้องมีการจัดการเกี่ยวกับส้วม ที่สภาพดี พร้อมใช้ และจำนวนเพียงพอ สะอาด ระบายน้ำดี แยกเป็นสัดส่วน ประตูไม่เปิดโดยตรงสู่บริเวณที่ประกอบอาหาร เว้นแต่จัดการส้วมให้สะอาดเสมอ มีฉากปิดกั้นที่เหมาะสม ประตูส้วมปิดตลอดเวลา มีอ่างล้างมือถูกสุขลักษณะ และเพียงพอ

          ข้อ 5 มีการจัดการเกี่ยวกับมูลฝอยอย่างดี
         

          ข้อ 6 ต้องจัดการเกี่ยวกับน้ำเสีย ระบายน้ำดี ไม่มีเศษอาหาร แยกเศษอาหาร แยกไขมันก่อนระบายน้ำทิ้งสู่ระบบระบายน้ำ ได้มาตรฐานตามกฎหมายว่าด้วยส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม

          ข้อ 7 ต้องมีมาตรการป้องกันสัตว์​ แมลงนำโรค และสัตว์เลี้ยง

          ข้อ 8 ต้องมีเครื่องมือป้องกันอัคคีภัย

หมวด 2 ข้อ 9-18 เรื่อง สถานที่จำหน่ายอาหาร
 

          ข้อ 9 อาหารสดที่มาปรุง ต้องคุณภาพดี สะอาด ปลอดภัย เก็บในอุณหภูมิที่เหมาะสม เป็นสัดส่วน ปกปิด ไม่วางบนพื้นหรือที่อาจทำให้อาหารเปื้อน

          ข้อ 10 อาหารแห้งต้องไม่มีการปนเปื้อน ในภาชนะที่บรรจุปิดสนิท เครื่องปรุงรส ต้องได้มาตรฐาน

          ข้อ 11 อาหารปรุงสำเร็จต้องเก็บในภาชนะที่สะอาด วางสูงจากพื้นไม่น้อยกว่า 60 เซนติเมตร

          ข้อ 12 น้ำดื่ม เครื่องดื่ม ที่ปิดสนิท วางสูงจากพื้นไม่น้อยกว่า 15 เซนติเมตร ต้องทำความสะอาดภายนอกภาชนะก่อนให้บริการ ถ้าเป็นเครื่องดื่มที่ไม่ได้อยู่ในภาชนะปิดสนิท ต้องวางสูงจากพื้นไม่น้อยกว่า 60 เซนติเมตร

          ข้อ 13 ต้องใช้น้ำที่มีคุณภาพไม่ต่ำกว่าเกณฑ์ของกรมอนามัย

          ข้อ 14 ต้องจัดการเกี่ยวกับน้ำแข็ง เช่น สะอาด เก็บในภาชนะที่สะอาดมีฝาปิด วางสูงจากพื้นไม่น้อยกว่า 15 เซนติเมตร ปากขอบภาชนะสูงจากพื้นไม่น้อยกว่า 60 เซนติเมตร ไม่ระบายน้ำจากถังสู่พื้นที่วางภาชนะ ใช้อุปกรณ์คีบหรือตักน้ำแข็ง สะอาดมีด้ามจับ ห้ามนำอาหารหรือสิ่งของไปแช่รวมกับน้ำแข็งสำหรับบริโภค

          ข้อ 15 เกี่ยวกับน้ำใช้ ต้องเป็นน้ำประปา ถ้าไม่มีให้ใช้น้ำคุณภาพเทียบเท่า

          ข้อ 16 สารเคมี สารทำความสะอาด วัตถุมีพิษ ต้องติดฉลาก ป้ายให้เห็นชัดเจน คำเตือน แยกเป็นสัดส่วนจากบริเวณที่ใช้ทำ หรือ จำหน่ายอาหาร ห้ามนำภาชนะบรรจุอาหารมาใช้บรรจุสารเคมี

          ข้อ 17 ห้ามใช้ก๊าซหุงต้มเป็นเชื้อเพลิงในการทำ ประกอบหรือปรุงอาหารบนโต๊ะ หรือที่รับประทานในสถานที่จำหน่ายอาหาร

          ข้อ 18 ห้ามใช้เมทานอล หรือเมทิลแอลกอฮอลล์ เป็นเชื้อเพลงในการทำ ประกอบ ปรุง หรืออุ่นอาหาร เว้นแต่เป็นแอลกอฮอล์แข็ง

หมวด 3 ข้อ 19-20 เกี่ยวกับภาชนะ อุปกรณ์ ในสถานที่จำหน่ายอาหาร

          ข้อ 19 ต้องใช้วัสดุปลอดภัย สภาพดี เก็บวางสูงจากพื้นไม่น้อยกว่า 60 เซนติเมตร ปกปิดป้องกันการปนเปื้อน ให้มีช้อนกลาง ตู้เย็น ตู้แช่ ตู้อบ เตาอบ ไมโครเวฟ ต้องสภาพดี ไม่ชำรุด

          ข้อ 20 เก็บอุปกรณ์ที่สามารถป้องกันสัตว์และแมลงนำโรคได้ ฆ่าเชื้อภาชนะ หลังทำความสะอาด

หมวด 4 ข้อ 21-22 เกี่ยวกับผู้ประกอบกิจการ และผู้สัมผัสอาหาร และการปรับปรุงตามกฎกระทรวง

          ข้อ 21 ต้องสุขภาพแข็งแรง ไม่เป็นโรคติดต่อ หรือพาหะนำโรคติดต่อ โรคผิวหนังที่น่ารังเกียจ ผ่านการอบรมตามหลักเกณฑ์ที่รัฐมนตรีโดยคำแนะนำของคณะกรรมการประกาศกำหนดในราชกิจจานุเบกษา ผู้สัมผัสอาหารต้องสวมใส่เสื้อผ้า อุปกรณ์ป้องกันที่สะอาด ป้องกันปนเปื้อนสู่อาหารได้ ต้องล้างมือ ไม่กระทำการใดๆ ที่ทำให้เกิดการปนเปื้อนต่ออาหาร หรือเกิดโรค

          ข้อ 22 สถานที่จำหน่ายอาหารที่ได้รับใบอนุญาต หรือหนังสือรับรองก่อนวันที่กฎกระทรวงนี้ใช้บังคับ ให้แก้ไขปรับปรุงภายใน 180 วัน นับแต่วันที่กฎกระทรวงนี้ใช้บังคับ เว้นแต่ ถ้าสถานที่นั้นมีพื้นที่ไม่เกิน 200 ตารางเมตรให้แก้ไขภายใน 1 ปี ส่วนการดำเนินการตามข้อ 21 ในส่วนการอบรมตามเกณฑ์ฯนั้นให้ดำเนินการภายใน 2 ปี

          สำหรับเหตุผลที่ในการประกาศกฎกระทรวงนี้ คือ ปัจจุบันวัฒนธรรมการบริโภคอาหารของประชาชนเปลี่ยนแปลงไป จากเดิมนิยมประกอบอาหารเพื่อบริโภคเอง เปลี่ยนเป็นนิยมบริโภคอาหารนอกบ้าน หรือบริโภคอาหารปรุงสำเร็จ สถานที่จำหน่ายอาหารจึงมีผลกระทบสำคัญต่อสุขภาพประชาชน เนื่องจากสถานที่จำหน่ายอาหารที่ไม่ถูกสุขลักษณะอาจทำให้เกิดการปนเปื้อนเชื้อโรค สารเคมีหรือโลหะหนัก รวมทั้งมีความเสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของโรคที่มีอาหารและน้ำเป็นสื่อ เพื่อให้สถานที่จำหน่ายอาหารมีสุขลักษณะที่ดีและลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรค สมควรกำหนดมาตรการในการจัดการสุขลักษณะของสถานที่จำหน่ายอาหาร จึงจำเป็นต้องออกกฎกระทรวงนี้

          ด้านบทลงโทษนั้น นายแพทย์ดนัย ธีวันดา รองอธิบดีกรมอนามัย เปิดเผยเพิ่มเติมว่ากฎกระทรวงฉบับนี้ไม่ได้ระบุเรื่องบทลงโทษ แต่การดำเนินการลงโทษร้านอาหารที่ไม่ทำตามนั้น อาศัยอำนาจตาม พ.ร.บ.การสาธารณสุข พ.ศ. 2535 ฉบับแก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ. 2560 ปรับ 50,000 บาท

 

Credit https://www.thairath.co.th/content/1313341

 

By QSG Consult - ที่ปรึกษาระบบคุณภาพBRC Food,ISO,GMP