"ปรับเปลี่ยนเป็นโรงสีข้าวGMP"

          ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมากรมการข้าวได้ส่งเสริมให้เกษตรกรหันมาผลิตข้าวอินทรีย์ และผลิตข้าว GI ซึ่งเป็นไปตามมาตรฐานการปฏิบัติที่ดีสำหรับการผลิตข้าว (Good Agricultural Practice for Rice : GAP) เพื่อให้ได้ข้าวที่มีคุณภาพควบคู่กับความปลอดภัย ปัจจุบันมีข้าวเปลือกที่ได้รับการรับรองการผลิตข้าวเปลือก GAP และอินทรีย์ในระดับฟาร์มจำนวน 40,000 แปลง และ 50,000 แปลงตามลำดับ” นี่คือ คำกล่าวของ นายชาญพิทยา ฉิมพาลี อธิบดีกรมการข้าว

          นายชาญพิทยา กล่าวต่อว่า กรมการข้าว จึงสนับสนุนผู้ผลิตรายย่อยให้เข้าสู่ระบบมาตรฐานการผลิตดำเนินการตรวจสอบและรับรองมาตรฐานโรงสีข้าวของกรมการข้าว ตามหลักมาตรฐานสากลจะใช้หลักเกณฑ์วิธีการปฏิบัติที่ดีสำหรับโรงสีข้าว (Good Manufacturing Practice for Rice Mill : GMP) ทำให้ผู้บริโภคมีความมั่นใจในผลิตภัณฑ์ว่ามีความปลอดภัยต่อการบริโภค ขณะที่ผู้ผลิตเองก็เกิดความมั่นใจว่าผลิตภัณฑ์ของตนเองมีคุณภาพสม่ำเสมอเช่นเดียวกัน เพื่อส่งต่อข้าวที่เกษตรกรใส่หัวใจในการเพาะปลูกให้ถึงมือผู้บริโภคได้อย่างถึงฝั่ง

          ปัจจุบันโรงสีข้าวของประเทศไทยมีอยู่ประมาณ 38,412 โรง แบ่งเป็นที่ขึ้นทะเบียนกับกรมโรงงานอุตสาหกรรม จำนวน 38,000 โรง วิสาหกิจชุมชน จำนวน 322 โรง และยังไม่นับรวมกับโรงสีข้าวที่อยู่ในศูนย์ข้าวชุมชนอีกประมาณ 90 ศูนย์ ซึ่งโรงสีข้าวเหล่านี้บางแห่งยังขาดการควบคุมและดูแลกระบวนการผลิตให้มีคุณภาพความปลอดภัย รวมทั้งการดูแลและทำความสะอาดบริเวณพื้นที่ภายใน และภายนอกโรงสีข้าวให้ถูกสุขลักษณะ

          ในปี 2557  กรมการข้าวจึงได้จัดการฝึกอบรมเตรียมผู้ประกอบการโรงสีข้าวในการพัฒนาระบบการจัดการโรงสีข้าว GMP ให้แก่เจ้าหน้าที่ของกรมการข้าวทั้งส่วนกลางและส่วนภูมิภาค ตลอดจนผู้ประกอบการโรงสีข้าวของกลุ่มเกษตรกร สหกรณ์การเกษตร และภาคเอกชนจากทั่วสารทิศ รวมทั้งสิ้น 70 ราย ให้มีความรู้เกี่ยวกับหลักเกณฑ์วิธีการปฏิบัติที่ดีสำหรับโรงสีข้าว เพื่อนำความรู้ที่ได้ไปส่งเสริมและพัฒนาโรงสีข้าวให้ได้รับรอง GMP โรงสีข้าว โดยการควบคุมดูแลสถานที่ ตลอดจนกระบวนการผลิตในทุกขั้นตอนให้มีความปลอดภัยได้มาตรฐาน จนถึงมือผู้บริโภค เพราะหากนำข้าวเปลือกที่ผ่านการรับรองมาตรฐาน GAPไปทำการสีแปรรูปในโรงสีข้าวที่ยังขาดสุขลักษณะที่ดีแล้ว ทำให้ข้าวที่ผ่านการรับรอง GAP แล้วด้อยคุณภาพลงไปอย่างน่าเสียดาย

          จึงนับได้ว่า การอบรมให้ความรู้แก่ผู้ประกอบการโรงสีข้าวในการปรับปรุงและพัฒนาโรงสีข้าวให้ได้การรับรองมาตรฐานโรงสีข้าวตามมาตรฐาน มกษ. 4403-2533 ของ มกอช. มีประโยชน์อย่างยิ่งสำหรับโรงสีข้าวที่จะนำไปเป็นแนวทางในการยกระดับมาตรฐานสินค้าข้าวให้สูงขึ้น และสามารถแข่งขันกับผู้ประกอบการรายอื่นๆ ได้ รวมทั้งยังสามารถลดต้นทุนการผลิตได้อีกด้วย

          และเมื่อปี 2557  กองตรวจสอบและรับรองมาตรฐานข้าว กรมการข้าว ได้จัดกิจกรรมประชาสัมพันธ์เพื่อรองรับระบบการผลิตข้าวให้ได้มาตรฐาน ณ จังหวัดเชียงราย โดยร่วมกับสหกรณ์การเกษตรเชียงแสน จำกัด ดำเนินการให้ความรู้ตั้งแต่ระดับฟาร์มไปจนถึงการผลิตข้าวถุง เพื่อให้เกษตรกรและผู้ประกอบการโรงสีข้าวในจังหวัดเชียงรายและใกล้เคียงเข้ามาเรียนรู้ แลกเปลี่ยนความคิดเห็น และนำไปสู่การปฏิบัติมุ่งให้ข้าวซึ่งเป็นอาหารหลักของคนไทยมีมาตรฐานความปลอดภัยต่อการบริโภคสูงสุด

          สำหรับผู้ประกอบการโรงสีข้าวใดที่มีความพร้อมในการปรับเปลี่ยนเป็นโรงสีข้าว GMP แล้ว ก็สามารถแจ้งความจำนงยื่นใบสมัครขอตรวจรับรองมาตรฐานโรงสีข้าว GMP ได้ที่กรมการข้าว หรือหน่วยงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับการตรวจรับรอง GPM โรงสีข้าว

 ที่มา : แนวหน้า

 

By : ที่ปรึกษาระบบมาตรฐาน QSG Consult